บทความที่น่าสนใจ

ต้น ข่อย กับการ แปรงฟัน : การรักษาความสะอาดช่องปาก จากอดีตถึงปัจจุบัน

ในยุคที่วิทยาศาสตร์ก้าวหน้าไปไกลและยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่องอย่างในปัจจุบันนี้ ทุกคนต่างรู้ดีว่าหากไม่ แปรงฟัน อย่างสม่ำเสมอเพื่อกำจัดเศษอาหารที่ติดอยู่ตามซอกฟันให้สะอาดก็จะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพภายในช่องปากได้ หนึ่งในปัญหาเหล่านั้นซึ่งเป็นปัญหาพื้นฐานเลยก็คือปัญหาฟันผุ ที่ภาษาชาวบ้านเรียกกันว่าแมงกินฟัน จนถึงขั้นเกิดนวัตกรรมการผลิตแปรงสีฟันรูปแบบต่างๆ ขึ้นมามากมาย อาทิเช่น แปรงสีฟันไฟฟ้า รวมไปถึงยาสีฟัน สูตรต่างๆ ตามท้องตลาดซึ่งมีมากมายเป็นร้อย ๆ สูตร

การเข้าใจเรื่องของสุขภาพช่องปากในยุคแห่งความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เช่นทุกวันนี้คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ทว่ามันกลับชวนให้ตั้งข้อสงสัยว่าคนในสมัยโบราณ ยุคก่อนที่โลกจะขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์นั้น เขาได้ตระหนักว่าเศษอาหารที่ตกค้างตามซอกฟันอาจจะเป็นภัยต่อสุขภาพช่องปากในเวลาต่อมาได้กันหรือไม่ ยุคที่การสร้างสรรค์นวัตกรรมและการประดิษฐ์ข้าวของเครื่องใช้ยังเป็นไปอย่างจำกัดเขามีวิธีดูแลสุขอนามัยภายในช่องปากกันอย่างไร หรือมีวิธีการกำจัดเศษอาหารในช่องปากกันหรือไม่ และที่สำคัญคือพวกเขารู้จักคำว่าแมงกินฟันกันแล้วหรือยัง เชื่อว่าคนในสมัยก่อนซึ่งถือเป็นบรรพบุรุษของเราคงไม่ได้ปล่อยให้ตัวเองฟันผุจนปวดฟันตายแน่ๆ

ในอดีตมนุษย์ แปรงฟัน อย่างไร

จากการศึกษาประวัติศาสตร์ พบว่าความเชื่อเรื่องการปวดฟันเกิดจากหนอนที่อยู่ในฟันนั้นมีมาตั้งแต่ในอดีตเมื่อ 5,000 ปีมาแล้ว ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาในยุคแรกๆ ยังคงเป็นวิธีการแบบผิดๆ ตามความเชื่อเกี่ยวกับผีสางเทวดาที่ยังคงมีอยู่อย่างเข้มข้น เช่น การไหว้ขอพรให้อาการปวดฟันหายไป เป็นต้น ก่อนจะมีการพัฒนาวิธีการขึ้นตามยุคสมัย

วิธีการทำความสะอาดฟันเพื่อกำจัดเศษอาหารที่ตกค้างภายในช่องปากนั้นมีความแตกต่างกันไปตามเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ จุดเริ่มต้นของวัสดุที่ใช้ทำความสะอาดฟันก็มีความแตกต่างกันไป โดยเมื่อประมาณ 3,000 – 3,500 ปีก่อนคริสตกาลชาวบาบิโลนและชาวอียิปต์ใช้ปลายกิ่งไม้มาทำความสะอาดฟัน คล้อยหลังมาประมาณ 1,600 ปีก่อนคริสตกาลชาวจีนมีการนำกิ่งไม้หอมมาเคี้ยว ทำให้ลมหายใจหอมสดชื่น จากนั้นในปี ค.ศ. 1770 ยุคที่ผู้คนนิยมใช้เศษผ้าถูฟันเพื่อทำความสะอาดได้มีการประดิษฐ์แปรงสีฟันที่มีลักษณะร่วมสมัยขึ้นมาเป็นครั้งแรกโดยชายชาวอังกฤษที่ชื่อว่า วิลเลียม แอดดิส (William Addis)

ส่วนคนในแถบเอเชียอย่างประเทศไทยเราจะใช้วิธีการเคี้ยวหมาก ที่เห็นว่าคนสมัยก่อนฟันดำก็ไม่ได้เป็นเพราะว่าไม่รู้วิธีการทำความสะอาดฟันแต่อย่างใด จนกระทั่งเข้ายุคสมัยแห่งการล่าอาณานิคม ชนชาติตะวันตกเริ่มเข้ามาเผยแพร่สินค้าและวัฒนธรรมของตนเองสู่คนไทย หนึ่งในนั้นคือแปรงสีฟัน โดยเริ่มมีการนำแปรงสีฟันเข้ามาในสมัยรัชการที่ 5 และในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามก็ได้มีการรณรงค์ให้ประชาชนเลิกกินหมาก วัฒนธรรมการเคี้ยวหมากเพื่อรักษาสุขภาพช่องปากจึงหายไปในที่สุด กลายเป็นการใช้แปรงสีฟันอย่างชาวตะวันตกแทน

ข่อย กับการ แปรงฟัน

ก่อนจะมีการเปลี่ยนไปใช้แปรงสีฟันที่ขนแปรงผลิตจากไนลอนตามแบบของชนชาติตะวันตกอย่างถาวร ในยุคสมัยหนึ่งของไทยได้มีการดัดแปลงกิ่ง ข่อย มาทำเป็นไม้สีฟันโดยไม่ต้องใช้ยาสีฟันเป็นตัวช่วยแต่อย่างใด เนื่องจากกิ่ง ข่อยมีคุณสมบัติในการรักษาฟันในตัวเองอยู่แล้ว หรืออาจนำเปลือกต้นสด ขนาดประมาณ 1 ฝ่ามือมาหั่นแล้วต้มใส่เกลือ นาน 10-15 นาที นำน้ำขณะที่ยังอุ่นมาอมบ่อยๆ ก็จะช่วยทำให้ฟันแข็งแรง ฟันไม่ผุได้เช่นเดียวกัน ทั้งยังรักษาอาการปวดฟันได้อีกด้วย

สมุนไพรที่ช่วยรักษาอาการปวดฟัน

นอกจากนี้ยังมีสมุนไพรที่ช่วยรักษาอาการปวดฟันอีกหลายชนิด ได้แก่

กานพลู โดยนำก้านมาอมไว้ในปากบริเวณที่ใกล้กับฟันซี่ที่กำลังมีอาการปวดก็จะสามารถลดอาการปวดได้ภายในเวลาไม่นาน

แก้ว สามารถนำใบสดมาตำพอแหลก แช่เหล้าโรงในอัตราส่วน 15 ใบย่อย หรือ 1 กรัมต่อเหล้าโรง 1 ช้อนชา หรือ 5 มิลลิลิตร และนำเอายาที่ได้มาทาบริเวณที่ปวด

ผักคราดหัวแหวน ใช้ดอกสดปริมาณพอเหมาะตำกับเกลือ อมหรือกัดไว้บริเวณที่ปวด

ส่วนไม้ชนิดอื่นๆ ที่นำมาใช้ทำไม้สีฟันได้นอกเหนือจากกิ่งข่อยแล้วก็ยังมีไม้คนทา ซึ่งมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สีฟัน โดยมีสรรพคุณช่วยรักษาฟันให้แข็งแรงได้ไม่แตกต่างกันเลย

จากที่กล่าวมาข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นกิ่ง ข่อย หรือ ไม้คนทา ก็ล้วนมีประวัติในการนำมาทำเป็นไม้สีฟันด้วยกันทั้งสิ้น แสดงให้เห็นว่าสมุนไพรไทยอยู่คู่กับการรักษาสุขภาพฟันมาอย่างยาวนาน ถึงแม้ในปัจจุบันจะมีการพัฒนามาอยู่ในรูปแบบส่วนผสมของยาสีฟัน แต่ก็เป็นการเพิ่มความสะดวกและรวดเร็วสำหรับการใช้ชีวิตยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบเท่านั้น ทว่าสิ่งที่ช่วยรักษาสุขภาพฟันของเราให้แข็งแรงได้อย่างแท้จริงก็ยังคงเป็นสรรพคุณที่อยู่ในสมุนไพรไทยอยู่ดี

บทความโดย

พท.ว. ทยิดา ไทยถาวร

ผู้อำนวยการคลินิกการแพทย์แผนไทยวัดทินกรนิมิต

share :